วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

ชีวิตแต่งงานที่เป็นสุขเริ่มต้นอย่างไร?

อยากจะฝากข้อควรปฏิบัติ 9 ข้อ สำหรับคู่สมรสใหม่ เพื่อเอาชนะปัญหาความยุ่งยากต่างๆ ในช่วงปีแรกของการแต่งงานดังนี้.


ข้อ 1. ให้ยอมรับว่าชีวิตนั้นจะต้องมีปัญหา ผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่คู่สมรสจะต้องยอมรับว่าชีวิตสมรสเป็นเรื่องของคนสองคนไม่ใช่คนๆ เดียว และไม่ว่าคู่สมรสใดต่างก็มีปัญหากันทั้งนั้น

ข้อ 2. ไม่ต้องหลอกตนเองหรือฝืนใจตัวเองให้สนใจในสิ่งหรือเรื่องเดียวกัน แน่นอนสามีและภรรยาจะต้องมีความสนใจในบางเรื่องที่ไม่ตรงกันเพราะนั้นคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตแต่งงานมีรสชาติมากขึ้นและเป็นการทำให้เกิดมุมมองที่หลายหลาย แต่ก็ไม่ควรเอาแต่ใจตนเองจนเกินไป



ข้อ 3. หากชีวิตกามารมณ์ของคุณไม่เป็นที่พึงพอใจในปีแรก ให้รีบขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ข้อนี้สำคัญมาก ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาเรื่องเพศนั้นจะไม่หายไปเองง่ายๆ และยิ่งคุณรอนานมันยิ่งจะเป็นปัญหาที่หนักขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัว บุคคลที่คุณควรปรึกษาในเรื่องนี้คือ สูตินารีแพทย์ จิตแพทย์หรือไม่ก็นักสังคมสงเคราะห์

ข้อ 4. อย่าตั้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำกิจกรรมหรือภาระกิจที่คุณเคยกระทำอยู่เมื่อครั้งยังเป็นโสด เช่นทำตารางเวลาหรือกำหนดวันจนกลายเป็นเงื่อนไขผูกรัดตัวคุณ แต่คุณควรที่จะพยายามใช้เวลาด้วยกัน และมีกิจกรรมต่างๆร่วมกันในช่วงสองปีแรกของการสมรส และหากจะมีการกำหนดกิจกรรมใดๆควรเป็นเรื่องที่กำหนดด้วยกันและทำด้วยความสมัครใจจะดีกว่า เช่นการเป็นเยี่ยมพ่อแม่ของคุณทั้งสองคน และการไปทำเรื่องที่แต่ละคนชอบในวันหยุดสุดสัปดาห์ เช่นคนหนึ่งอาจชอบไปว่ายน้ำ อีกคนชอบไปตีกอล์ฟ เป็นต้น

ข้อ 5. ต้องยอมรับถึงรายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้น และมีการวางแผนด้านการเงิน เมื่อยอมรับหรือทำใจไว้ล่วงหน้าได้เช่นนี้คุณก็จะช่วยกันแก้ไข โดยการจัดทำงบประมาณค่าใช้จ่ายแบบประหยัด แต่ที่สำคัญไปยิ่งกว่านั้นก็คือคุณจะต้องพยายามใช้จ่ายตามงบประมาณที่ได้ตั้งไว้ด้วยนะครับ

ข้อ 6. วางแผนเรื่องการใช้เวลาให้ดี จงให้แน่ใจว่าเวลาสำหรับการทำงานและการแสวงหาความสุขสนุกสนานเพียงพอทัดเทียมกัน ทั้งนี้เพราะความสุขจากการใช้เวลาด้วยกันนั้นคือส่วนสำคัญของชีวิตแต่งงาน

ข้อ 7. การแต่งงานนั้น คือการที่คนสองคนเข้าหุ้นส่วนชีวิตกันและกัน ทั้งสองฝ่ายควรมีส่วนรับรู้ในทุกสิ่งที่เกี่ยวกับ หรืออาจมีผลกระทบต่อชีวิตสมรส

ข้อ 8. รักษาสุขภาพให้ดี การรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์อยู่เสมอด้วยการที่คุณทั้ง 2 คนควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ (รวมถึงทันตแพทย์ด้วย) และคุณทั้งคู่จะต้องเอาจริงเอาจังกับการดูแลสุขภาพของตนเองเช่นการลดและอเลิกสูบบุหรี่หรือเสพของมึนเมาต่างๆ ทั้งนี้เพราะว่าการมีสุขภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรงอาจนำมาซึ่งชีวิตสมรสที่ไม่มีความสุขได้

ข้อ 9. จงให้กำลังใจกันและกันเสมอว่าชีวิตจะต้องมีทั้งความทุกข์และความสุข ที่สำคัญคือจงมีความเชื่อและมั่นใจว่า คุณทั้ง 2 คนจะสามารถเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ ในอนาคตร่วมกันได้อย่างสบาย และในอนาคตนั้นมีความสุขกำลังรอคุณอยู่

หากคุณทั้ง 2 คนสามารถเอาชนะปัญหาต่างๆ ในช่วงปีแรกของการแต่งงานได้ คุณจะรู้สึกประหนึ่งว่าความทุกข์ยากและปัญหาหนักต่างๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากว่าในปีแรกนี้ทั้งคู่จะต้องปรับตัว ซึ่งการปรับตัวนี้ในบางเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ถ้าทำได้สำเร็จก็จะเป็นการปูรากฐานของความสุขที่จะได้เกิดขึ้นในช่วงต่อไปของชีวิต และพร้อมที่จะเอาชนะปัญหาหนักๆ ซึ่งจะติดตามมาภายหลัง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงปีที่ 7 และประมาณระหว่างปีที่ 15 – 20 ของการแต่งงาน

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ความรักระหว่างคุณทั้งสองเป็นไปได้อย่างมั่นคงตลอดไปก็คือ ความสามารถในการเข้าไปเป็นเสมือนหุ้นส่วนในชีวิตสมรสและการรับผิดชอบในหน้าที่ของหุ้นส่วนชีวิตของกันและกัน คุณทั้งคู่จะต้องปรับตัวในหลายๆ ด้านในชีวิตการสมรส การปรับตัวนี้จะเป็นเรื่องง่ายหากคุณเป็นผู้ใหญ่พอนั้นหมายถึงความเป็นผู้ใหญ่ด้าน “อารมณ์”

หลายคนคงจะสงสัยว่าความเป็นผู้ใหญ่ในเรื่องอารมณ์นี้คืออะไร?
ความเป็นผู้ใหญ่ในด้านอารมณ์ หมายถึง การควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้อยู่ในกฎเกณฑ์ต่างๆ ด้วยความสบายใจ และหมายถึงความเห็นอกเห็นใจฝ่ายตรงข้ามด้วยการมีสติและเหตุผล สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือองค์ประกอบที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณทั้งคู่ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือคุณจะต้องเชื่อใจซึ่งกันและกัน ควรใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหาไม่ควรใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ และอย่าเป็นคนขี้ระแวงมากเกินไป เพราะจุดนี้อาจจะทำให้คุณเป็นทุกข์ ควรคิดแต่แง่ดีในตัวคู่ครองของคุณ คือ “มองโลกในแง่ดี” นั้นเอง แต่ก็ต้องดูที่เหตุผลด้วย.... โดยฝ่ายผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้วจะเข้าอกเข้าใจในความผิดพลาดต่างๆ ของฝ่ายชายและพร้อมที่จะประนีประนอม และในทางกลับกันฝ่ายผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้วจะเข้าอกเข้าใจในความผิดพลาดต่างๆ ของฝ่ายหญิงและพร้อมที่จะประนีประนอมเช่นเดียวกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์ของเธอและของเขาราบรื่นในยามที่มีปัญหา หากทั้งสองฝ่ายมีส่วนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการแก้ไขปัญหาแล้ว ทั้งคู่จะมีความพึงพอใจในความเสมอภาค เพราะทั้งนี้จะไม่มีฝ่ายใดอยู่เหนือฝ่ายหนึ่ง ทว่าทั้งสองต่างก็หันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันในลักษณะหุ้นส่วนที่มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกันและนี้แหละคือ “ชีวิตแต่งงานที่เป็นสุข”


อ่านเพิ่ม >>

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น